วันศุกร์, เมษายน 26, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTSเก้าอี้นายกฯ“จุรินทร์”ฝ่าหลายด่าน “ปชป.”แค่จัดทัพ-พรรคก็ป่วน!!!!
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

เก้าอี้นายกฯ“จุรินทร์”ฝ่าหลายด่าน “ปชป.”แค่จัดทัพ-พรรคก็ป่วน!!!!

ที่ผ่านมาต้องถือว่า “พรรคประชาธิปัตย์” ขยับตัวเร็วกว่าพรรคการเมืองอื่นๆ โดยเฉพาะภายในพรรคร่วมรัฐบาล กับการเตรียมทำศึกเลือกตั้ง แม้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะยืนกรานผ่านการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนและย้ำกลางที่ประชุมครม.บ่อยครั้งว่า รัฐบาลจะอยู่ครบเทอมสี่ปี ไม่ยุบสภาฯแน่นอน

อย่างไรก็ตาม แกนนำประชาธิปัตย์ ที่ส่วนใหญ่เชี่ยวกรากทางการเมือง ผ่านร้อนผ่านหนาว เห็นการเมืองมาเยอะ อย่าง “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์-รองนายกฯ-รมว.พาณิชย์ ก็เป็นส.ส. มา 11 สมัยแล้ว รวมถึงอีกหลายคน พบว่าส่วนใหญ่มองว่า การเมืองไม่มีอะไรแน่นอน โดยเฉพาะเมื่อสภาฯ อยู่ครบสามปีในเดือนมีนาคมปีหน้า อีกทั้งหลังมีการโปรดเกล้าฯร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญและมีการแก้ไขพ.ร.บ.เลือกตั้งส.ส. และพรบ.พรรคการเมืองฯเสร็จ ในช่วงไม่เกินกลางปีหน้า ถึงตอนนั้น แกนนำประชาธิปัตย์รู้ดีว่า กระแสการเมืองในการเรียกร้องให้นายกฯ “ยุบสภาฯ” จะเกิดสูงแน่

ทำให้แกนนำประชาธิปัตย์บางส่วน ก็ประเมินว่า อาจมีการยุบสภาฯ เกิดขึ้นก็ได้กลางปีหน้า ที่จะอยู่ในช่วงเปิดประชุมสภาฯกลางปี ที่ฝ่ายค้านสามารถยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯได้อีกครั้ง เท่ากับอาจมีการยุบสภาฯภายในช่วงก.ค.65 ก็เป็นไปได้ โดยหากเป็นไปตามนี้ ก็เหลือเวลาอีกประมาณ 9-10 เดือนเท่านั้น หรือแม้แต่ต่อให้ นายกฯไม่ยุบสภาฯ จะลากให้อยู่ครบเทอม ยังไงก็เหลือเวลาอีกแค่ปีกว่า ไม่ถึงสองปี ก็ต้องมีเลือกตั้งอยู่ดี

ด้วยเหตุนี้ “ประชาธิปัตย์” ที่เลือกตั้งรอบที่แล้ว แพ้หมดรูป โดยเฉพาะฐานที่มั่นใหญ่ “กรุงเทพมหานคร-ภาคใต้” จึงหมายมั่นปั้นมืออย่างมากในการต้องกลับมาทวงคืนเก้าอี้ส.ส.รอบหน้าให้ได้ประมาณ 80-90 ที่นั่ง เพื่อลุ้นโอกาสกลับมาเป็นรัฐบาลอีกรอบหลังเลือกตั้ง

และต้องไม่ลืมว่า ตามธรรมเนียมของประชาธิปัตย์ หลังเลือกตั้ง หากพรรคไม่ชนะการเลือกตั้ง ไม่ได้ส.ส.เป็นอันดับหนึ่ง หัวหน้าพรรคจะต้อง“ลาออกจากตำแหน่ง” ซึ่งเป็นธรรมเนียมที่ยึดปฏิบัติกันมาหลายครั้งในช่วงที่ผ่านมา

ดังนั้น หากเลือกตั้งรอบนี้ ถ้าประชาธิปัตย์ภายใต้การนำของ “จุรินทร์” แพ้เลือกตั้ง ไม่ได้ส.ส.เข้าสภาฯตามเป้า “จุรินทร์” ก็ต้องลาออกจากหัวหน้าพรรค ส่วนจะได้รับเลือกกลับเข้ามาอีกครั้งหรือไม่ ก็ต้องดูสถานการณ์ตอนนั้น ที่ก็ไม่แน่ อาจไม่ได้กลับมาเป็นหัวหน้าพรรคอีกก็ได้ ถ้ามีตัวเลือกอื่นที่ดีกว่า

ด้วยเหตุนี้ “จุรินทร์” จึงมีเดิมพันสูง กับการนำทัพประชาธิปัตย์ สู้ศึกเลือกตั้งในฐานหัวหน้าพรรคครั้งแรก ที่แม้รู้ดีว่า ยังไงก็คงสู้ “พลังประชารัฐ-เพื่อไทย” ไม่ได้ หรือแม้แต่อาจสู้ “ภูมิใจไทย” ไม่ได้ด้วยซ้ำ แต่ก็ต้องเข็นพรรคประชาธิปัตย์ลงทำศึกให้ดีที่สุด ให้ได้ส.ส.มากที่สุด

โดยเฉพาะ “ภาคใต้” ในฐานะที่ “จุรินทร์” คือส.ส.-นักการเมืองภาคใต้ เพราะหากภาคใต้ ทำไม่ได้ตามเป้า ไม่สามารถเรียกเก้าอี้ส.ส.เขตกลับคืนมาได้ หลังเลือกตั้งรอบที่แล้ว พรรคได้แค่ 22 เก้าอี้ จาก 50 เก้าอี้

ดังนั้นรอบนี้พื้นที่ภาคใต้ ยังไง “จุรินทร์” ต้องทำให้ได้สัก 35-40 เป็นอย่างน้อย เพราะหลังกลับไปใช้ระบบบัตรสองใบและมีการเพิ่มส.ส.เขตจาก 350 เขตเป็น 400 เขต ทำให้มีการประเมินกันว่า ภาคใต้น่าจะมีส.ส.เขตเพิ่มมากขึ้นอีกประมาณขั้นต่ำ น่าจะร่วมๆ 6-8 เก้าอี้ ทำให้โอกาสที่ประชาธิปัตย์ จะกวาดส.ส.เขตเพิ่มขึ้น ก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย

เพราะหาก “ประชาธิปัตย์” ได้ส.ส.เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะที่ภาคใต้และกรุงเทพมหานคร แม้ต่อให้ “ประชาธิปัตย์” ได้ส.ส.มาเป็นอันดับสามหรือสี่ ไม่ได้ชนะการเลือกตั้ง แต่ก็เชื่อได้ว่า สมาชิกพรรค-ส.ส.ประชาธิปัตย์ ก็มีโอกาสจะโหวตให้ “จุรินทร์” กลับมาเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์อีกครั้ง

ก็เหมือนกับที่ “อภิสิทธิ เวชชาชีวะ” นำทัพประชาธิปัตย์ แพ้เลือกตั้งสองรอบ คือเลือกตั้งปี 2550 ที่แพ้ให้กับพลังประชาชนและเลือกตั้งปี 2554 ที่แพ้ให้กับเพื่อไทย แต่ “อภิสิทธิ” ก็ยังได้รับเลือกกลับมาเป็นหัวหน้าพรรคทั้งสองครั้ง

จึงทำให้ “จุรินทร์” ยังไงก็ต้องแสดงฝีมือให้ดีที่สุด เพื่อซื้อใจคนในพรรค รวมถึงเพื่อทำให้ประชาธิปัตย์ได้ส.ส.มากที่สุด จนมีโอกาสได้ร่วมจัดตั้งรัฐบาล กับขั้วพลังประชารัฐ เพราะถ้าเป็นตามนี้ ยังไง “จุรินทร์” ก็ต้องกลับมาเป็นรัฐมนตรีอีกครั้งหลังเลือกตั้งแน่นอน เว้นเสียแต่ ขั้วพลังประชารัฐ-ประชาธิปัตย์ รวมเสียงกันแล้ว แพ้เพื่อไทย เกมก็พลิกกันไป

ส่วนเรื่องที่ประชาธิปัตย์ ชู “จุรินทร์” เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี โดยมีแนวโน้มจะส่งแค่ “จุรินทร์” ชื่อเดียว ก็ถือเป็นเรื่องปกติ เพราะประชาธิปัตย์ ก็จะชูหัวหน้าพรรคเป็นแคนดิเดตนายกฯมาทุกยุคสมัย ตั้งแต่ยุค “ชวน หลีกภัย-บัญญัติ บรรทัดฐาน-อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” 

เพียงแต่ในแง่ความเป็นจริง หากประชาธิปัตย์ไม่ได้เสียงส.ส.มาเป็นอันดับหนึ่งหรืออันดับสอง หลังเลือกตั้ง โอกาสที่แคนดิเดตนายกฯจากประชาธิปัตย์ อย่าง “จุรินทร์” จะมีลุ้นเก้าอี้นายกฯ มันก็ยาก เพราะมองแค่ในแง่ของพรรคการเมืองขั้วที่จะจับกับประชาธิปัตย์ ตอนนี้ก็น่าจะมี “พลังประชารัฐ-ภูมิใจไทย”

ซึ่งวงการเมือง ก็ยังมองว่า พลังประชารัฐและภูมิใจไทย น่าจะมีโอกาสได้ส.ส.มากกว่าประชาธิปัตย์ด้วยซ้ำ แล้วเรื่องอะไรจะยอมให้แคนดิเดตนายกฯของประชาธิปัตย์ ได้ชิงเก้าอี้นายกฯ

ยังไม่นับรวมปัจจัยแทรกซ้อนอื่นๆ เช่น ก็ยังมีโอกาสที่ภูมิใจไทยอาจจะไปจับมือกับเพื่อไทย ตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้งก็ยังเป็นไปได้ หรือแม้แต่ต่อให้พลังประชารัฐเองก็เถอะ มันก็มีโอกาสเช่นกัน ที่เพื่อไทยกับพลังประชารัฐ จะจับมือกันตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้ง หากพลังประชารัฐไม่ได้ส.ส.มาเป็นอันดับหนึ่ง แล้วรวมเสียงตั้งรัฐบาลแข่งแล้วแต่ทำยังไง ก็ไม่ได้เกินกึ่งหนึ่ง มันก็ยากจะตั้งรัฐบาลได้ เพราะถ้าสถานการณ์ไปถึงตอนนั้น พล.อ.ประยุทธ์ หากตอนเลือกตั้งยังไม่วางมือการเมือง แล้วให้พลังประชารัฐเสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกฯ แต่ถ้าพลังประชารัฐตั้งรัฐบาลไม่ได้ แล้วพล.อ.ประยุทธ์ถอย มันก็อาจเป็นไปได้ ที่พลังประชารัฐจะไปจับมือกับเพื่อไทยได้เช่นกัน

ด้วยเหตุนี้ ในความคึกคักของประชาธิปัตย์ที่ชู “จุรินทร์” เป็นแคนดิเดตนายกฯ ตอนนี้ในแง่ความป็นจริงทางการเมือง โอกาสที่ “จุรินทร์” จะเป็นนายกฯหลังเลือกตั้ง ความเป็นไปได้จึงน่าจะยากจนถึงยากมาก กับโอกาสที่จะมาถึงดังกล่าว ถ้าประชาธิปัตย์ไม่ได้ส.ส.มาเป็นอันดับหนึ่งหรืออันดับสอง โอกาสก็แทบเป็นไปได้ยาก กับการฝ่าด่าน ทั้งแคนดิเดตนายกฯจาก “เพื่อไทย-พลังประชารัฐ-ภูมิใจไทย”

แม้ต่อให้เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ผลโพลสองสำนักคือ ซูเปอร์โพลและ RIDC-SSRU POLL ศูนย์นวัตกรรมดิจิทัล วิทยาลัยนวัตกรรมและการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา หรือ “สวนสุนันทาโพลจะทำให้ จุรินทร์และคนประชาธิปัตย์ หัวใจเต้นแรง เพราะผลสำรวจออกมาว่า “จุรินทร์” เรตติ้งเริ่มตีขึ้นเรื่อยๆ จนขึ้นมาเป็นตัวเลือกของประชาชน ลำดับที่สอง ต่อจากพล.อ.ประยุทธ์ กับคำถามถึงผู้ที่เห็นว่าเหมาะสมจะเป็นแคนดิเดตรอชิงนายกฯ     

ซึ่งเห็นได้ชัดว่า หลังผลสำรวจสองสำนักดังกล่าวออกมา ทำให้ “คนประชาธิปัตย์” ตื่นเต้นและตอบรับกันอย่างออกนอกหน้า เหมือนกับเป็นความหวังเล็กๆ ที่ทำให้ประชาธิปัตย์ คึกคักและมีความหวังที่พรรคจะได้ส.ส.เพิ่มขึ้น จนทำให้ “จุรินทร์” มีโอกาสลุ้นนายกฯ แม้ลึกๆ คนในพรรคปชป. ก็รู้ดีว่า “จุรินทร์” ต้องฝ่าด่านหลายด่าน แต่ก็ทำให้พอมีความหวังขึ้นมาทันที

เห็นได้จากเกิดความคึกคักในการเตรียมเลือกตั้งของประชาธิปัตย์ ที่เดินหน้าเปิดตัวผู้สมัครส.ส. และการเปิดตัวอดีตส.ส.ของประชาธิปัตย์ ที่กลับเข้าประชาธิปัตย์อีกครั้งโดยเฉพาะในภาคใต้

ทั้งกรณี “เจะอามิง โตะตาหยง” อดีตส.ส.นราธิวาส ที่เคยเดินออกจากพรรคไปตอนเลือกตั้งปี 2562 ที่ไปอยู่กับ “พรรครวมพลังประชาชาติไทย” ของสุเทพ เทือกสุบรรณ ตอนนี้ก็ย้ายกลับมาประชาธิปัตย์อีกครั้ง        เท่านั้น ยังไม่พอ “ประชาธิปัตย์” ไปได้ว่าที่ผู้สมัครส.ส. คนดัง คือ “เมธี อรุณ” นักร้องดังวงลาบานูน วงดนตรีที่มีชื่อเสียงโด่งดัง มีแฟนคลับทั่วประเทศ และหลายวัย โดย “เมธี” ถือเป็นหนึ่งในไอดอลของคนหนุ่มสาวในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่พบว่า “เมธี” ก็แสดงเจตจำนงจะลงสมัครส.ส.นราธิวาส โดยใส่เสื้อประชาธิปัตย์แน่นอน ที่ก็ต้องถือว่า ว่ามีโอกาสสูงเลยทีเดียว ในการจะได้รับชัยชนะในพื้นที่ และน่าจะทำให้พรรคได้คะแนนเสียงปาร์ตี้ลิสต์ ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ กลุ่มวัยรุ่นเพิ่มมากขึ้นแน่นอน

อย่างไรก็ตาม ก็เริ่มพบว่าในความพยายามเร่งเปิดตัว-คัดเลือกผู้สมัครส.ส.ของประชาธิปัตย์ในหลายพื้นที่โดยเฉพาะที่ภาคใต้ ก็เริ่มแสดงให้เห็นถึงปัญหาภายในพรรคประชาธิปัตย์ในเรื่อง การคัดเลือกผู้สมัครส.ส. ในลักษณะ “การดันเด็กใครเด็กมัน” ของกลุ่มแกนนำประชาธิปัตย์บางกลุ่มในหลายพื้นที่ โดยก่อนหน้านี้ อาจได้เห็นกรณีที่ปัตตานีกับเคสของ “อันวาร์ สาและ ส.ส.ปัตตานี ที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากับแกนนำพรรคสายกุมอำนาจในพรรคเวลานี้มาตลอด” ก็มีข่าวออกมาตลอดว่า อาจจะมีการดัน “อันวาร์” ไปลงปาร์ตี้ลิสต์ แล้วส่งคนอื่นลงสมัครส.ส.แทน จนทำให้ “อันวาร์” ออกมาแสดงความไม่พอใจอย่างมาก ถึงขั้นมีข่าวทำหนังสือเป็นการภายในถึงแกนนำพรรค เพื่อทวงถามความชัดเจนในเรื่องดังกล่าว

หรือกรณีที่ “พังงา” ที่การเลือกตั้งรอบหน้า หากใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ จังหวัดพังงาจะมีเขตเลือกตั้งเพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งเขต โดยที่มีปัญหาคือใน เขต 2 ที่เพิ่มขึ้น “ราเมศ รัตนะเชวง” โฆษกพรรค ปชป.-เลขานุการประธานรัฐสภา สายตรง “ชวน หลีกภัย” ได้แสดงความประสงค์จะขอลงในเขตดังกล่าวมาตลอด เพราะพื้นเพเป็นคนพังงา แต่ปรากฏว่ากลุ่มแกนนำพรรค จะดัน “บำรุง ปิยนามวาณิช” (โกหลี่) อดีตนายก อบจ.พังงา ให้ลงสมัครในเขตดังกล่าวแล้วให้ “ราเมศ” ไปเลือกลงสมัคร ส.ส.ในพื้นที่เขตกรุงเทพมหานครแทน จนสร้างเสียงวิพากษ์วิจารณ์ภายในพรรคตามมาไม่ใช่น้อย

นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ

แต่ที่แรงสุดตอนนี้ ก็คือเคสที่จังหวัดพัทลุง ในพื้นที่เขต 2 ของ “นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ” อดีตส.ส.พัทลุงแปดสมัย ที่จะไม่ลงสมัคร ส.ส.เขตรอบหน้าแล้ว ก็มีข่าวว่า แกนนำพรรคปชป. จะส่ง “นิติศักดิ์ ธรรมเพชร” ลูกชายของ “วิสุทธิ์ ธรรมเพชร” นายกฯอบจ.พัทลุงลงสมัคร จนสร้างความไม่พอใจให้ “นิพิฏฐ์” อย่างมาก ที่แกนนำพรรคบางส่วน จะตัดสินใจเรื่องดังกล่าวโดยไม่สอบถามอดีตส.ส. 8 สมัยอย่างตนเอง ในฐานะเจ้าของพื้นที่ว่าคิดว่าใครเหมาะสม จนเกิดการโวยวายผ่านโซเชียลมีเดีย และกลายเป็นประเด็นที่หลายคนเริ่มมองเห็น การขัดแข้งขัดขากันเองของคนในประชาธิปัตย์ ในการคัดคนลงสมัครส.ส.

โดยเฉพาะในภาคใต้ ที่หากใครได้ลง ถึงต่อให้ตอนนี้พรรคประชาธิปัตย์กระแสจะตกลงไปบ้าง แต่ก็ยังถือว่าหากใครได้ลงสมัครในนามพรรคในภาคใต้ โอกาสจะได้รับเลือกตั้ง ก็ยังมีสูงอยู่ กับฐานเสียง แฟนคลับของพรรคที่หนาแน่นในภาคใต้ จึงทำให้มีการแข่งขัน-แย่งกันจะลงส.ส.เขตภาคใต้กันมาก จนเกิดปัญหาดังกล่าวขึ้นม ที่ดูแล้ว ปัญหาแบบนี้ คงไม่หมดแค่ที่ “ปัตตานี-พังงา-พัทลุง”

แต่น่าจะมีอีกบางแห่ง เริ่มมีปัญหาเหมือนกัน กับการจัดทัพเตรียมเลือกตั้งของประชาธิปัตย์ ที่คนในพรรคเริ่มไม่พอใจการบริหารจัดการเรื่องดังกล่าวของแกนนำพรรคประชาธิปัตย์บางคน สิ่งที่เกิดขึ้น ต้องเตือนประชาธิปัตย์ว่า อย่าทำเป็นเล่นไป เพราะก่อนเลือกตั้ง ถ้าแกนนำพรรคบริหารจัดการเรื่องนี้ปัญหาต่างๆ ไม่ดี

อาจทำให้ บางคนในพรรคทนไม่ได้ จนอาจได้เห็นสภาพเลือดไหลออก ส.ส.-อดีตส.ส.-แกนนำพรรค ที่จะทยอยลาออกจากประชาธิปัตย์ไปอยู่กับพรรคการเมืองอื่นตามมาหลังจากนี้ก็ได้

…………………….

คอลัมน์ : ส่องป้อมค่ายการเมือง

โดย “พระจันทร์เสี้ยว” 

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img